CP LAND พาส่องเทรนด์การตกแต่งห้องนั่งเล่นมาแรงใน ครึ่งปีหลัง 2567

ผ่านไปเกือบครึ่งปีแล้ว เทรนด์การตกแต่งบ้านก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ CPLAND จึงขอพาทุกท่านมาอัพเดทเทรนด์การตกแต่งห้องกันสักหน่อย โดยในวันนี้ เราจะพาส่องเทรนด์การตกแต่งห้องนั่งเล่น ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของบ้าน เพราะเป็นห้องที่ผู้คนนิยมใช้เวลามากที่สุด  เทรนด์การตกแต่งห้องที่มาแรงในปี 2567 จะเน้นไปที่การออกแบบที่ใช้งานได้หลากหลาย  ดีต่อสุขภาพ  และยั่งยืน โดยข้อมูลส่วนหนึ่งได้หยิบยกมาจาก WGSN (World Global Style Network)  ผู้นำด้านการคาดการณ์แนวโน้มระดับโลก    มาดูกันว่ามีอะไรน่าสนใจบ้าง

1. พื้นที่นั่งเล่นแบบมัลติฟังก์ชั่น (Multipurpose Rooms)

พื้นที่ในบ้านมีจำกัด จากไลฟ์สไตล์ของผู้คนที่เปลี่ยนไปเน้นอาศัยอยู่ใจกลางเมือง การออกแบบห้องนั่งเล่นแบบมัลติฟังก์ชั่นจึงเป็นที่นิยม   ช่วยให้คุณใช้ประโยชน์จากพื้นที่ได้อย่างคุ้มค่า   สามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้เหมาะกับกิจกรรมต่างๆ   เช่น   ทำงาน  พักผ่อน  หรือสังสรรค์กับเพื่อนฝูง

 

ตัวอย่างไอเดียการออกแบบ

มุมทำงานในห้องนั่งเล่น : เหมาะสำหรับคนที่ทำงานจากบ้าน ประหยัดพื้นที่ ไม่ต้องแยกห้องทำงาน

เฟอร์นิเจอร์มัลติฟังก์ชั่น : เช่น โซฟาเบด โต๊ะกาแฟที่มีช่องเก็บของ เฟอร์นิเจอร์ที่สามารถปรับใช้และใช้งานได้หลายแบบ ซึ่งสามารถพับ, วางซ้อนหรือซ่อนไว้ เพื่อสร้างความหลากหลายในการใช้งาน ช่วยประหยัดพื้นที่และใช้งานได้สะดวก

ผนังพับเก็บได้ : ช่วยแบ่งพื้นที่เมื่อต้องการความเป็นส่วนตัว หรือเปิดโล่งเมื่อต้องการพื้นที่กว้างขวาง

 
2. การออกแบบที่ยั่งยืน (Sustainable Design)

การออกแบบที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมกำลังเป็นที่นิยมอย่างถึงที่สุดในสภาวะอากาศโลกแบบนี้   การเลือกใช้วัสดุธรรมชาติ   รีไซเคิล   หรือย่อยสลายง่าย   ช่วยลดมลพิษและรักษาสิ่งแวดล้อม  จึงเป็นเทรนด์ที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน

 

ตัวอย่างไอเดียการออกแบบ

เฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่: ไม้ไผ่เป็นวัสดุที่ยั่งยืน แข็งแรง ทนทาน และสวยงาม

ของตกแต่งจากวัสดุธรรมชาติ: เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าลินิน กระจูด ช่วยเพิ่มความอบอุ่นให้กับห้อง สามารถลดการใช้น้ำในการซักทำความสะอาด

ต้นไม้: ช่วยฟอกอากาศ เพิ่มความสดชื่น และสร้างบรรยากาศผ่อนคลาย  เป็นพื้นที่สําหรับการฟื้นฟูสุขภาพจิต

 

3. เทคโนโลยีอัจฉริยะ (Smart Living Room)

เทคโนโลยีช่วยให้ชีวิตสะดวกสบายยิ่งขึ้น   นำเทคโนโลยีมาผสานกับการออกแบบห้องนั่งเล่น   ควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ   ด้วยเสียง    ด้วยโทรศัพท์เพียงปลายนิ้วสัมผัส หรือสร้างบรรยากาศความบันเทิงที่สมจริง   

 

ตัวอย่างไอเดียการออกแบบ

ทีวีอัจฉริยะ: เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม ได้ง่ายๆ

ลำโพงอัจฉริยะ: สั่งงานด้วยเสียง ควบคุมไฟ เปิดเพลง ตั้งเวลา และอื่นๆ

ระบบไฟส่องสว่างอัจฉริยะ: ปรับแสงไฟให้เหมาะกับบรรยากาศ ควบคุมด้วยสมาร์ทโฟน

4. สีสันอบอุ่น (Warm Color Tone)

สีสันมีผลต่ออารมณ์และความรู้สึกต่อการอยู่อาศัย  เลือกใช้สีโทนอบอุ่น   เช่น   ครีม   เบจ   น้ำตาล   ช่วยสร้างบรรยากาศผ่อนคลาย   ปลอดโปร่ง   สบายตา   เหมาะกับการพักผ่อน

5. การออกแบบโค้งมน (Curve Design)

ทำงานมาเหนื่อยๆทั้งวัน เจอแต่ความเครียด สภาวะกดดัน เฟอร์นิเจอร์และงานตกแต่งที่มีเส้นสายโค้งมน   ช่วยให้ห้องดูนุ่มนวล   ละมุนละไม   ลดทอนความแข็งกระด้าง   สร้างบรรยากาศอบอุ่น   ฟื้นฟูสภาพจิตใจ  ผ่อนคลายจากความเครียดที่สะสมมาตลอดวันได้

6. องค์ประกอบธรรมชาติ (Biophilic Design)

จากมลภาวะสิ่งแวดล้อม ความเจริญทางวัตถุ เทคโนโลยี การอัพเดทข่าวสาร อาจทำให้คุณเกิดความเครียดโดยที่ไม่รู้ตัว  การนำธรรมชาติเข้ามาผสมผสานกับการออกแบบ การสร้างช่องรับแสง และหน้าต่างบานใหญ่ จะช่วยให้แสงแดดธรรมชาติส่องเข้ามาในบ้านของเราได้อย่างเพียงพอ ลดการพึ่งพาแสงประดิษฐ์จากหลอดไฟต่าง ๆ ในระหว่างวัน การใช้วัสดุที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับธรรมชาติ เช่น ไม้ หิน หรือองค์ประกอบธรรมชาติอื่น ๆ ช่วยให้บ้านดูมีชีวิตชีวา น่าอยู่มากขึ้น และสร้างบรรยากาศที่น่าอยู่ ทำให้ผู้อยู่อาศัยสัมผัสความสบายกับธรรมชาติได้   ช่วยให้รู้สึกสดชื่น ผ่อนคลาย รู้สึกถึงการพักผ่อนอย่างแท้จริง

ตัวอย่างไอเดียการออกแบบ

ต้นไม้: ฟอกอากาศ เพิ่มความสดชื่น และสร้างบรรยากาศผ่อนคลาย

วัสดุธรรมชาติ: เช่น ไม้ หิน ผ้าลินิน ช่วยเพิ่มความอบอุ่นให้กับห้อง

แสงธรรมชาติ: ออกแบบให้แสงธรรมชาติส่องเข้ามาในห้อง ช่วยประหยัดพลังงาน และทำให้ห้องดูโปร่งโล่ง

จากข้อมูลที่เรานำเสนอตามเทรนด์ที่กำลังจะเกิดขึ้น น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับหลายๆคนที่กำลังหาข้อมูลในการตกแต่งห้องนั่งเล่น แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสไตล์และบุคลิกภาพของผู้ใช้งาน ซึ่งเหนือสิ่งอื่นใด คือ การทำให้ห้องนั่งเล่นตอบโจทย์ในการเป็นสถานที่ที่ทุกคนสามารถใช้เวลาร่วมกัน สำหรับการพักผ่อนและสังสรรค์กับคนในครอบครัว หรือคนที่คุณรัก อย่างมีความสุขที่สุด

Add Your Heading Text Here